การศึกษาปฐมวัย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อวางรากฐานชีวิตของเด็กไทยให้เจริญเติบโตและ  มีพัฒนาการสมวัยอย่างสมดุล กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้สถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กทุกสังกัด นำไปใช้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กและบริบทท้องถิ่น โดยกำหนดปรัชญาการศึกษาปฐมวัยไว้ว่า “การศึกษาปฐมวัย เป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่
แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ อย่างเป็นองค์รวม บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการตามวัยของเด็กแต่ละคนให้เต็มตามศักยภาพภายใต้บริบทสังคม
และวัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” 
           สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักในความสำคัญของการประเมินพัฒนาการนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย และดำเนินการประเมินพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทุกรอบ 2 ปีการศึกษา โดยดำเนินการประเมินพัฒนาการนักเรียนครอบคลุมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ พัฒนาการด้านสังคม และพัฒนาการด้านสติปัญญา ตามมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ในโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนศูนย์เด็กปฐมวัยต้นแบบ และโรงเรียนทั่วไปที่เปิดสอนระดับอนุบาลศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศของนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ในภาพรวมระดับประเทศ เขตตรวจราชการจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำหรับนำผลไปใช้เป็นข้อมูล
ในการวางแผนพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
           ปีการศึกษา 2563 สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาได้ดำเนินการจัดทำเครื่องมือ
การประเมินพัฒนาการและจัดทำรายงานผลการประเมินพัฒนาการ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอน ดังนี้
           - ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย
           - อาจารย์มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 
           - ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ได้แก่ สพป. นครราชสีมา เขต 1, สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1, สพป.สระบุรี เขต 1, สพป.ปทุมธานี เขต 1, สพป.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 1, สพป.นราธิวาส เขต 2, สพป.ชุมพร เขต 2, สพป.ตราด, สพป.เชียงใหม่ เขต 1, สพป.พะเยา เขต 2, 
สพป.เชียงราย เขต 1, สพป.พิษณุโลก เขต 2, สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2, สพป.สุพรรณบุรี เขต 1, สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 และ สพป.ปราจีนบุรี เขต 1 
           - ครูผู้สอนจากโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นอนุบาลศึกษา ได้แก่ โรงเรียนบ้านทุ่งมะขามเฒ่า โรงเรียนบ้านค้อโนนเพ็ก โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ โรงเรียนชุมชนบึงบา โรงเรียนบ้านหนองขาม และโรงเรียนอนุบาลลพบุรี 
           ผลการประเมินพัฒนาการนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ปีการศึกษา 2563
           จากการประเมินพัฒนาการนักเรียนปฐมวัยกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 14,597 คน 2,365 โรงเรียน โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 183 แห่ง ดำเนินการประเมินในรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ครูประจำชั้น จำนวน 1 คน และศึกษานิเทศก์หรือครูผู้สอนปฐมวัย จำนวน 3 คน ผลการประเมินพบว่า พัฒนาการในภาพรวมทุกด้าน ระดับประเทศ นักเรียนส่วนใหญ่มีพัฒนาการอยู่ในระดับดีสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 91.46 โดยพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ มีผลการประเมินสูงสุด ร้อยละ 96.87 รองลงมาคือ พัฒนาการด้านสังคม ร้อยละ 96.55 พัฒนาการด้านร่างกาย ร้อยละ 83.35 และพัฒนาการด้านสติปัญญา ร้อยละ 80.17 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าในปีการศึกษา 2561 ทั้งภาพรวมและรายด้าน รายละเอียดสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ในเอกสาร “รายงานผลการประเมินพัฒนาการนักเรียนที่จบหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ปีการศึกษา 2563”