สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับศูนย์การศึกษาเกาหลีประจำประเทศไทย จัดทำสื่อมัลติมีเดีย Online-Offline สำหรับการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามแผนความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาเกาหลีระดับขั้นพื้นฐาน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับกระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐเกาหลี พัฒนาและจัดทำสื่อการเรียนรู้ภาษาเกาหลีให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น สื่อการเรียนรู้ดังกล่าวได้รับการพัฒนาและสนับสนุนการจัดทำโดยศูนย์การศึกษาเกาหลีประจำประเทศไทย ในรูปแบบ digital media ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับครูใช้ในการเรียนการสอนภาษาเกาหลีออนไลน์ และการสอนในชั้นเรียนปกติ นอกจากนี้ยังจัดอบรมการใช้สื่อดิจิทัลมีเดียภาษาเกาหลี ให้แก่ครูสอนภาษาเกาหลีในโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาเกาหลี สังกัด สพฐ. จำนวนทั้งสิ้น 140 คน ผ่านระบบการอบรมออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24–26 และ 29 มิถุนายน 2563 โดยมีนางสาววรรณา ช่องดารากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเกาหลีประจำประเทศไทย (Mr. Kim Young Jin) กล่าวเปิดการอบรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งการอบรมครั้งนี้ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การอธิบายเกี่ยวกับฟังก์ชันพื้นฐานของแพลตฟอร์ม (ZOOM) ออนไลน์ ที่ใช้ร่วมกับสื่อมัลติมีเดีย 2. แนะนำโปรแกรมและวิธีการใช้สื่อมัลติมีเดีย(ภาษาเกาหลี 1, ภาษาเกาหลี 2) และ 3. ฝึกวิธีการสอนที่ใช้สื่อมัลติมีเดีย
.
นางสาววรรณา ช่องดารากุล ผู้เชี่ยวชาญฯ สพฐ. กล่าวว่า “การอบรมครูสอนภาษาเกาหลีออนไลน์ครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมที่ตอบสนองกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นต้องนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้ให้เหมาะสมในการเรียนการสอนทั้งแบบ Online และ Offline(ในห้องเรียน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และดึงดูดความน่าสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน อีกทั้งเป็นการช่วยให้การสอนภาษาเกาหลีมีประสิทธิภาพ และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”
.
ด้านนายคิมยองจิน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ทางศูนย์ฯร่วมมือกับ BISANG EUCATION CO,.LTDสร้างสรรค์สื่อมัลติมีเดียที่สามารถใช้ได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งใช้เนื้อหาของหนังสือเรียนภาษาเกาหลี เล่ม 1, 2 และคู่มือครูของหนังสือภาษาเกาหลี ที่ใช้อยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำโดยศูนย์การศึกษาเกาหลี ประจำประเทศไทยประกอบด้วย 3 รูปแบบได้แก่ 1. เป็นสื่อมัลติมีเดียแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งในห้องเรียนและการเรียนการสอนออนไลน์แบบเรียลไทม์ที่มีส่วนร่วมได้ทั้งสองฝ่าย 2. การ์ดคำและศัพท์ออนไลน์ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้คำและคำศัพท์ภาษาเกาหลีได้ง่ายและถูกต้องมากยิ่งขึ้น และ 3. การบรรยายผ่านวิดีโอที่สามารถใช้ในการเตรียมตัวและทบทวนความรู้ของนักเรียนได้ โดยนักเรียนและครูผู้สอน สามารถใช้ฟังก์ชันการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ ภาพประกอบเสียงคำถามการ์ดคำถามฟังก์ชันการใช้กระดานเขียน เป็นต้น ในการเรียนการสอนแบบเรียลไทม์ที่มีส่วนร่วมทั้งสองฝ่าย โดยใช้แพลตฟอร์มที่เป็นวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์(Zoom) ส่วนนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ก็สามารถเข้าร่วมได้เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะที่การเรียนการสอนในห้องเรียนหลังเปิดภาคเรียนที่ใช้ร่วมกับโปรเจกเตอร์หรือทีวีโปรเจกเตอร์ ก็สามารถใช้ฟังก์ชันการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จึงมีข้อดีที่สื่อนี้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย
 
หลังจากอบรมการใช้สื่อดังกล่าว ครูที่เข้าอบรมมีความสนใจและเห็นว่า สื่อมัลติมีเดียนี้จัดทำโดยใช้หนังสือภาษาเกาหลีที่มีอยู่เป็นพื้นฐาน และนักเรียนก็สามารถลองฟังการออกเสียงภาษาเกาหลีได้เลย ขณะเดียวกัน นักเรียนก็สามารถใช้สื่อนี้เรียนรู้และศึกษาด้วยตนเองได้ ครูกับนักเรียนสามารถสื่อสารกันได้ในฟังก์ชันคอมมิวนิตี้ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนช่วยอย่างมากในการเรียนการสอนภาษาเกาหลี รวมทั้งสามารถนำสื่อนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนได้ทันที ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้ครูคลายความกังวลเป็นอย่างมากว่าจะต้องเตรียมตัวและดำเนินการสอนรูปแบบออนไลน์อย่างไร การที่ต้องมานั่งทำวิดีโอสอนหรือการ์ดคำศัพท์ต่างๆ ทีละอันๆ เพื่อใช้สอนนั้น ก็ใช้เวลามากและยังมีข้อจำกัดในเรื่องการบันทึกการออกกเสียงที่ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งสื่อดังกล่าวนี้ ช่วยให้ครูสามารถเตรียมการสอนที่มีประสิทธิภาพ และนักเรียนเองก็ยังสามารถฝึกออกเสียง เตรียมตัวล่วงหน้า ทบทวน และประเมินได้ ซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว คาดหวังว่าต่อไปจะมีการจัดทำสื่อมัลติมีเดียของหนังสือเรียนภาษาเกาหลีเล่ม 3 – 6 ด้วยในอนาคต