สำนักวิชาการ ได้จัดประชุมการบรรณาธิการกิจหน่วยการเรียนรู้ต้นแบบที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา โดยกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษจัดขึ้น ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมรอแยลเบญจา กรุงเทพมหานคร โดยนางสุกัญญา งามบรรจง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สพฐ. ได้กรุณาให้กำลังใจและให้ข้อเสนอแนะแก่คณะทำงาน

     สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ รวมทั้งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่กำหนดโดย มติสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศจะดำเนินการตามเป้าหมายนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด เพื่อขจัดความยากจน เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันและความไม่ยุติธรรม และเพื่อขจัดปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมีเป้าหมายที่ 4 ของ SDGs ว่าด้วยการให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับทุกคนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การทางการศึกษาทั่วโลกได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาแนวคิดต่าง ๆ ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว เช่น องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ศูนย์การศึกษาโลก (Center for Global Education) แห่ง Asia Society เป็นต้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้มีข้อค้นพบในทางเดียวกันว่า สิ่งสำคัญที่ต้องส่งเสริมในการพัฒนาผู้เรียน คือ สมรรถนะ ในด้านต่าง ๆ เนื่องจากเป็นการนำความรู้ ทักษะ ค่านิยม และเจตคติ มาผสมผสานกันเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญเพื่อเตรียมผู้เรียนให้มีความพร้อมสู่การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคต

     การประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้มีมุ่งหมายเพื่อบรรณาธิการหน่วยการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถใช้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ มาผสมผสานให้เกิดสมรรถนะ รวมทั้งสอดคล้องกับตัวชี้วัดและมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ระดับชั้นละ 3 หน่วยการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 18 หน่วยการเรียนรู้ ซึ่งมีความยืดหยุ่นสามารถนำไปใช้ได้ในบริบทของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากใช้สื่อที่เป็นวัสดุ อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณตามนโยบายของ สพฐ. อีกด้วย โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ข้าราชการบำนาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ศึกษานิเทศก์ และครู จากภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีความเข้าใจบริบทของสถานศึกษา และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์องค์ความรู้และข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ สวก. สพฐ. สถาบัน PISA สพฐ. เป็นต้น รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.วรรณา ช่องดารากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษา และ ดร.โชติมา หนูพริก ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการออกแบบการจัดการเรียนรู้อีกด้วย

     หลังจากจากบรรณาธิการกิจเสร็จสิ้น จะเริ่มต้นประชาสัมพันธ์รับสมัครโรงเรียนที่มีความสนใจในการนำหน่วยการเรียนรู้ไปใช้ เพื่อทดลองใช้และปรับปรุงใหม่มีความสมบูรณ์มากขึ้น แล้วเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาต่อไป